Friday, July 20, 2007

สารเคอร์คิวมินเพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เพิ่มปริมาณอาร์เอ็นเอของตัวรับซีโรโตนิน 5-HT1A และเพิ่มโปรตีน BDNF ในหนูขาวที่ซึมเศร้า

วันนี้เป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งครับ เกี่ยวกับสารเคอร์คิวมินที่เมืองไทยเราโด่งดังจากครีมหน้าเด้ง แต่ประโยชน์ของสารตัวนี้มีหลายด้านจนถือว่าเป็นพระเอกดาวรุ่งเลยก็ว่าได้ บทความที่ผมนำมาเล่านี้เป็นงานวิจัยจากคณะนักวิจัยจาก Peking University ประเทศจีน และ University of Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการทดลองเรื่องฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าของเคอร์คิวมินมาตั้งแต่ต้น คือเรียกว่าจับให้มั่นคั้นให้ตายกับเรื่องนี้ จนวันนี้ทีมวิจัยก็สามารถไขความลับเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของเคอร์คิวมินได้อย่างน่าตื่นเต้น ที่สำคัญคือบทความนี้ส่งตีพิมพิ์ในเดือนพฤษภาคมและมีเอกสารเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเดือนกรกฏาคมซึ่งระยะเวลาค่อนข้างสั้น แสดงว่าบทความนี้มีความสำคัญจึงสมควรที่นักวิจัยทั่วโลกจะได้รีบต่อยอดองค์ความรู้นี้ให้เร็วขึ้น

เคอร์คิวมินเป็นสารที่มีอยู่ในสมุนไพรขมิ้นชันที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa เคอร์คิวมินมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านอ็อกซิเดชั่น ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฤทธิ์ปกป้องสมอง ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่าสารเคอร์คิวมินแสดงฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า (antidepressant activity) ในสัตร์ทดลองและมีการใช้สมุนไพรขมิ้นชันรักษาอาการเครียดและซึมเศร้า ในมนุษย์ตามแนวทางการแพทย์แผนจีน

การทดลองนี้ได้ทำให้หนูขาวเกิดอาการซึมเศร้าในรูปแบบ chronic unpredictable stress model ด้วยแนวคิดที่ว่าความเครียดมีผลต่อระบบ HPA axis ทำให้ฮอร์โมนความเครียดพวก glucocrticoids เพิ่มมากขึ้นและเชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสตายและอาจเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้า การศึกษานี้ให้สารเคอร์คิวมินทางปากในขนาด 5, 10 and 20 mg/kg แล้ววัดการแบ่งตัวของเซลล์ (cell proliferation) และตรวจจับสารบ่งชี้ (neuronal marker) ที่แสดงถึงเซลล์ประสาทที่โตเต็มที่ จากการทดลองพบว่าเคอร์คิวมินในขนาด 10 และ 20 mg/kg เพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampal neurogenesis) ซึ่งผลนี้คล้ายกับการให้ยา imipramine ทางช่องท้อง ในขนาด10 mg/kg

เมื่อตรวจสอบกลไกการออกฤทธิ์เพิ่มเติมพบว่าสารเคอร์คิวมินเพิ่มจำนวนตัวรับสารสื่อประสาทซีโรโตนินชนิด 5-HT(1A) receptors และสารควบคุมการเจริญพัฒนาเซลล์ระบบประสาทที่ชื่อ brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายกลุ่มที่ระบุว่า ตัวรับดังกล่าวมีบทบาทกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทให้เป็นเซลล์ประสาท และการให้สารยับยั้งที่เรียกว่า receptor antagonist พบว่าทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในบริเวณเดนเตตไจรัสของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสลดลง

ดังนั้นสารเคอร์คิวมินที่มีอยู่ในขมิ้นชันอาจออกฤทธิ์เป็นสารต้านอาการซึมเศร้าโดยการเพิ่มจำนวนตัวรับชนิด 5-HT1A receptor และสาร BDNF นำไปสู่การเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งทำให้หนูที่เครียดเรื้อรังจนเกิดอาการซึมเศร้ามีการฟื้นตัวดีขึ้นและอาจออกฤทธิ์ปกป้องการสูญเสียเซลล์ประสาทจากความเครียดซึ่งอาจช่วยอธิบายผลทางเภสัชวิทยาที่เกิดขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง
  • Ying Xu และคณะ, Curcumin reverses impaired hippocampal neurogenesis and increases serotonin receptor 1A mRNA and brain-derived neurotrophic factor expression in chronically stressed rats, Brain Res. (2007), doi:10.1016/j.brainres.2007.05.071