Thursday, February 22, 2007

ครบรอบสิบปีแห่งการโคลนนิ่งแกะดอลลี่

หัวข้อข่าว Cloning special: Dolly: a decade on
ที่มา News @ Nature.com


เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 ศาสตราจารย์ Ian Wilmut แห่งสถาบันวิจัย Roslin Institute ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง Edinburgh ประเทศสก๊อตแลนด์ และคณะผู้วิจัยร่วมที่ PPL Therapeutics ได้ประกาศว่าสามารถโคลนลูกแกะ (lamb) ที่พวกเขาตั้งชื่อว่า ดอลลี่ (Dolly) ตอนนั้นคนทั้งโลกตื่นเต้นกับข่าวความสำเร็จของวิทยาการแขนงใหม่เพราะข่าวนี้อยู่หน้าแรกของหนังสือพิมพิ์ทั่วโลก และหลังจากนั้นก็ทำให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งทางจริยธรรมในการวิจัยเป็นระยะๆ จนกระทั้งทุกวันนี้แม้จะซาลงไปบ้างเพราะมีเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน (embryonic stem cell) มาเป็นพระเอกแทน แต่อย่างไรก็ตามหัวข้อวิจัยสองสาขานี้คือ การโคลนนิ่งและเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนนั้นไม่ได้เหมือนกันเลยทีเดียว

ถ้าหากเราย้อนไปรำลึกประวัติศาสตร์การโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตพบว่ามีลำดับความสำเร็จสรุปได้ดังนี้ (ภาพประกอบจาก Nature.com: http://www.nature.com/news/2007/070219/fig_tab/445800a_F1.html )

1. ค.ศ. 1952
นักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมันนีสามารถโคลนกบ Rana pipiens ได้สำเร็จ

2. ค.ศ. 1984
นักวิจัยชาวจีนโคลนปลา Carassius carassius

3. ค.ศ. 1996
ศาสตราจารย์ Ian Wilmut และคณะ โคลนลูกแกะสองตัว ชื่อ Megan และ Morag เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์งานวิจัยที่สำคัญมาก

4. ค.ศ. 1997
ศาตราจารย์ Ian Wilmut คนเดิมประกาศว่าโคลนนิ่งแกะดอลลี่ได้สำเร็จ ครั้งนี้ดังกว่า (อาจเป็นเพราะหนังสือพิมพ์ไม่สนใจงานครั้งแรกกระมังครับ) และเป็นที่มาของข้อโต้แย้งทางจริยธรรมครั้งใหญ่

5. ค.ศ. 1998
-นักวิจัยที่อเมริกาสามารถโคลนหนูถีบจักร (mice) ได้สำเร็จ
-นักวิจัยญี่ปุ่นโคลนลูกวัวสามตัวได้สำเร็จ
-นักวิจัยที่ประเทศนิวซีแลนด์โคลนวัวสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่ชื่อ Bos guarus ได้สำเร็จ


6. ค.ศ. 2000
นักวิจัยที่ประเทศสก๊อตแลนด์โคลนหมูได้สำเร็จ โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะใช้เป็นแหล่งผลิตอวัยวะให้มนุษย์ได้ใช้!

7. ค.ศ. 2002
ลูกแมวที่ชื่อเล่น cc ที่มาจากชื่อจริงคือ copycat (Felis domesticus) ถูกโคลนขึ้นมาสำเร็จ แต่หน้าตาไม่เหมือนแม่เลยทีเดียว

8. ค.ศ. 2003
-นักวิจัยประเทศอิตาลีโคลนม้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรกซึ่งลูกม้าตัวนี้เกิดจากนำเซลล์ผิวหนังของม้ามาโคลนนิ่ง
-นักวิจัยประเทศฝรั่งเศสและประเทศจีนสามารถโคลนหนูขาว (rat) Rattun norvegicus ได้สำเร็จ

9. ค.ศ. 2004
ศาสตราจารย์ Hwang ที่มหาวิทยาลัย Seoul Nationnal University ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศว่าสามารถโคลนนิ่งเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ได้ ถึงแม้ว่าต่อมาจะถูกจับเท็จว่าเขาบิดเบือนข้อมูลการวิจัย แต่ความสำเร็จในวิธีการใช้ครั้งนั้นก็เป็นแนวทางให้ห้องปฏิบัติการหลายแห่งใช้ศึกษาอยู่ในปัจจุบัน

10. ค.ศ. 2005
ศาสตราจารย์ Hwang คนเดิมประกาศว่าสุนัขที่ชื่อ Snuppy เป็นผลงานการโคลนนิ่งของกลุ่มวิจัยพวกเขาเอง ถึงแม้ว่างานวิจัยก่อนหน้านี้จะเป็นของเก๊ แต่สุนัขตัวนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจริงแน่นอน



ขอขอบคุณ

1. News @ Nature.com
http://www.nature.com/news/2007/070219/full/445800a.html

No comments: