โรคร้ายหลายโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคไพรออน (Prion disease) โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) โรคมะเร็ง (cancer) เป็นต้น จากการศึกษาชีววิทยาของการเกิดโรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการทบของโมเลกุลโปรตีน (protein folding) ซึ่งหากโปรตีนเกิดการทบที่ผิดปกติ (protein misfolding) ก็จะนำไปสู่การเกิดโรคในที่สุด
งานวิจัยเพื่อศึกษาการทบของโมเลกุลโปรตีนเพื่ออธิบายกลไกการเกิดโรคและเพื่อค้นหาโมเลกุลยาใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการทบกันของโมเลกุลโปรตีนดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แบบจำลอง (simulation) ทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประสิทธิภาพการคำนวณสูงมาก
คณะนักวิจัยของ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงร่วมมือกับบริษัทโซนี่ผู้ผลิตเกม Play station ซึ่งใช้เทคโนโลยีหน่วยประมวณผลกลางแบบ cell processor อันทรงประสิทธิภาพ ผลิตโปรแกรมที่ชื่อว่า Folding@Home ที่จะแจกให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่อง play station 3 ได้มีส่วนร่วมในการทำวิจัยเพื่อศึกษาการทบของโมเลกุลโปรตีนในรูปแบบต่างๆ โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นจากผู้เล่นแต่ละคนทั่วโลกจะถูกส่งกลับไปยังศูนย์วิจัยที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวเพื่อรวบรวมสรุปผล
โปรแกรมนี้ได้แปลเป็นหลายภาษา เช่น Chinese, Dutch, French, German, Italian, Japanese, Korean, Persian, Polish, Portuguese, Russian, Spanish, Vietnamese น่าเสียดายที่ยังไม่มีข้อมูลว่าได้แปลเป็นภาษาไทยแล้ว ในขณะนี้มีเครื่องเล่นที่มีหน่วยประมวณผลกลางที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 1,000,000 เครื่องทั่วโลก ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความถูกต้องแม่นยำและมีความรวดเร็วในการประมวณผลเป็นอย่างมาก
คาดว่าโปรแกรมทำนายโครงสร้างโปรตีนดังกล่าวจะออกสู่ตลาดในปลายเดือนมีนาคมนี้ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นเกมที่นอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้วยังมีส่วนร่วมทำประโยชน์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาโรคร้ายในอนาคต ต้องคอยติดตามดูครับว่าผลการทดลองจะเป็นที่น่าพอใจหรือไม่อย่างไร
อ้างอิง
1. โครงการ Folding@Home, Stanford University http://folding.stanford.edu/
2. Red Herring the Business of Technology http://rh.blogtronix.net/Home/191
1 comment:
น่าสนใจมากเลยครับน้อง ...... กลัวเป็นโรคความจำเสื่อมจริง ๆ รู้สึก ความจำสั้นลง เยอะเลย
Post a Comment