Saturday, February 17, 2007

ปวดหนอ

การอ่านเอาความรู้กับอ่านเพื่อให้จำได้ หรือให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษให้ได้นั้น อาจจะมีความแตกต่างบ้างไม่มากก็น้อย นักเรียนไทยอย่างผมอาจจะคุ้นเคยกับการทำข้อสอบแบบกากบาทจนชิน การเขียนคำตอบแบบเรียงความที่เรียกว่า essay นั้นถือว่าเป็นงานหนักพอควรภายใต้ข้อกำหนดข้อมูลที่แม่นยำและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด

วันนี้อ่านหนังสือตั้งแต่เช้าเพราะอีกหนึ่งสัปดาห์ก็ถึงเวลาสอบปลายภาคแล้ว โต๊อ่านหนังสือของวีระพงษ์ก็เหมือนสมัยเป็นนิสิต รกไปด้วยหนังสือ, กระดาษและปากกาสีต่างๆ




วันนี้อ่านทบทวนและทำสรุปย่อเรื่อง sensory and motor system ถึงแม้ว่าจะอ่านเรื่องนี้มาประมาณสามรอบแล้วมั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถเขียนเป็นภาษาอังกฤษให้สละสลวยใช้คำระดับเดียวกับในตำราได้

อาการปวด (pain) นั้น เป็นความรู้สึก (feeling) เป็นการรับรู้ของเราเองที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทนำความรู้สึกเจ็บปวด (nociception system) nociception กับ pain ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน pain นั้นเกิดจาก nociception สมมติว่าเกิดการกระตุ้นในระดับเดียวกัน คนนึงอาจปวดอีกคนอาจไม่ได้รู้สึกปวดก็เป็นได้ บางครั้งมีการกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปวดตลอดเวลาแต่อาจเกิดกลไกอื่นมาบดบังไม่ให้เรารู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งกระคุ้นอันนั้น ทำให้เซลล์ประสาทมันตอบสนองน้อยลงๆ ที่เราเรียกว่าเกิด desensitization

เหมือนกับการที่เราไปฝึกกรรมฐาน ถ้าเราเกิดเวทนาในขณะที่ฝึก เช่น ปวดขาเพราะนั่งสมาธินาน พระอาจารย์ก็ให้เราก็กำหนดจิตว่า "ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ...." สักพักความปวดนั้นก็จะถูกบดบังจากกลไกทางจิตที่ว่า "เวทนาเป็นของไม่เที่ยง" ความรู้สึกที่ว่าปวดก็จะหายไปในที่สุด





ในทางประสาทวิทยาศาสตร์ การนำส่งความรู้สึกเจ็บปวดนั้นเริ่มต้นที่ ตัวรับสัมผัสความเจ็บปวดที่เรียกว่า nociceptors ถูกกระตุ้นจากตัวกระตุ้น เช่น สารเคมี สารสื่อประสาท อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นมากเกินไป การออกกำลังกายที่หนักเกินไปทำให้ปริมาณโปรตอน (H+ ) เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ตัวกระตุ้นเหล่านี้มีผลทำให้ช่องไอออน (ion channels) ที่อยู่บนเยื่อหุ้มตัวรับเปิด ไออนที่อยู่นอกเซลล์ก็วิ่งกรูเข้าไป ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า action potential คือเซลล์ประสาทพร้อมที่จะทำงานส่งข้อมูลไปให้เซลล์ประสาทตัวอื่นๆ แล้ว กระแสประสาทนำความเจ็บปวดนี้จะถูกถ่ายทอดโดยเส้นใยแอกซอนขนาดเล็ก คือ A delta fiber และ C fiber เข้าสู่ไขสันหลังทางปีกด้านบน (dorsal horn)

รูปด้านล่างนี้เป็นการเปรียบเทียบกลไกระหว่างการสัมผัส (touch) ที่อาศัยวิถีประสาทที่ชื่อ dorsal column- medial lemniscal pathway กับ การปวด ซึ่งอาศัยวิถีประสาท spinothalamic pathway เป็นอะไรที่ต้องจำและยากพอควร





การควบคุมความเจ็บปวดไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือให้มันรู้สึกน้อยที่สุด คนเราสามารถทำได้ทั้งในระดับไขสันหลังที่เรียกว่า Afferent regulation (ภาพด้านล่าง) เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเวลาเราปวดแล้วเอามือไปบีดนวดคลึงเบาๆ อาการปวดก็จะทุเลาลงได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการสัมผัสไปกระตุ้นตัวรับที่ไวต่อการจับ การสั่น ของผิวหนัง ซึ่งตัวรับนี้เรียกว่า mechanoreceptor มันส่งข้อมูลการสัมผัสไปทางเส้นแอกซอนขนาดใหญ่คือ A alpha fiber และ A beta fiber เส้นใยนี้จะไปยับยั้งการส่งสัญญาณความเจ็บปวดที่ปกติถูกถ่ายทอดโดยเส้นใย C fiber ซึ่งเราเรียกลไกนี้ว่า Gate therory of pain


ดังนั้นการนวดคลึงเบาๆจึงช่วยลดความปวดได้โดยผ่านการทำงานในระดับไขสันหลัง ซึ่งสู้กลไกที่ควบคุมผ่านจิตคนเราด้านล่างไม่ได้






อีกทางนึงที่ง่ายเพื่อให้ความเจ็บปวดลงลง (ภาพด้านล่าง) คือ การควบคุมผ่านสมอง อันนี้ผมเพิ่งเข้าใจว่าที่เราไปนั่งกรรมฐานทำสมาธินั้นมันสามารถควบคุมจิตใจคนเราได้หลายอย่าง ฝรั่งก็เลยมาเขียนในตำราว่าอันว่าความเจ็บปวดนั้น คนเราสามารถกดทับมันไว้ไม่ให้แผลงฤทธิ์ได้หลายทาง ยกตัวอย่างเช่น ทหารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสในสมรภูมิรบอาจจะไม่รู้สึกปวดเลยก็ได้ในขณะนั้นเพราะมีความเครียด อารมณ์แน่วแน่ว่าจะต้องสู้เพื่อชาติไทย หรือบอกกับตัวเองว่า ปวดหนอ ปวดก็สักแต่ว่าปวด สังขารไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยงเช่นกัน ความปวดมันเกิดได้ มันก็ต้องดับไปเองได้


ดังนั้น ผมสรุปตามความเข้าใจตัวเองว่า stoic determination ที่ ตำรา Neuroscience: Exploring the brain เขาเขียนเอาไว้ และผมก็ไปเปิดพจนานุกรมของ University of Cambridge มันก็คือ แก่นของการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 คือ เมื่อรู้ว่าจิตรับรู้ (perception) ว่าเกิดความปวดขึ้นแล้ว ก็สักแต่ว่าปวด ปวดหนอ ปวดหนอ แต่มันก็ดับไปเองได้เพราะว่าเซลล์ประสาทมันเกิดเวทนาที่เรียกว่า desensitization




รูปที่เห็นเหล่านี้เป็นกระดาษสรุปย่อที่ผมเขียนเองทำให้นึกย้อนไปสมัยที่เป็นนิสิต ทำแบบนี้เป็นประจำตอนสอบ ต้องมีปากกาหลายสีเขียนให้เห็นชัดเจน กระดาษแผ่นขนาด A4 ตอนนั้นเคยใช้แบบกระกาษชาร์ตใหญ่ๆ เขียนโครงสร้างปฏิกิริยาในวิชา Pharmaceutical Chemistry ซึ่งทำไว้ดีมาก ใครอ่านไม่ออกไม่สนใจ ขอแค่เราจำได้ว่าเนื้อหาที่เรากำลังถูกถามมันอยู่ส่วนไหนของกระดาษแผ่นนี้ ต้องจำได้เพราะเราเป็นคนเขียนเอง ซึ่งเทคนิคนี้อาจเรียกว่าทำ mind mapping แต่อันนี้ไม่ค่อยสวยหรือเป็นระบบเท่าไหร่




















อาหารเสริมจาก The Boots, UK



ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อังกฤษมีให้เลือกหลายแบบมาก กล่องก็ออกแบบได้สวยมาก จนทำให้ผมต้องเสียเงินซื้อไปหลายสิบปอนด์ แต่ที่ตัดสินใจซื้อก็เพราะประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าครับ
กล่องแรกนี้เป็นอาหารเสริมบำรุงสายตา มีสารอาหารที่หากินได้ยาก เช่น Lutein, Zeaxanthin, Bilberry extract และอื่นๆ ถ้าไม่ดีจริงผมไม่กล้าซื้อกินหรอกเพราะแพงมากๆ



ส่วนกล่องด้านล่างนี้เป็นโสมเกาหลีเพื่อบำรุงร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันโดยรวม มาอยู่ที่อังกฤษยังไม่เคยไปร้านยาไหนเลยนอกจาก The Boots เพราะว่าของเยอะ ราคาไม่แพง และที่สำคัญผมเคยเป็นเภสัชกรที่ร้านบูทส์ที่เมืองไทย ดังนั้นคุ้นเคยกับร้านนี้เป็นที่สุด








Friday, February 16, 2007

Interview for PhD @ King's College London




เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 ได้ไปพบกับ Dr Stephen Minger ที่ King's College London
เพื่อคุยถึงความเป็นไปได้ในการเรียนปริญญาเอกกับเขา วันนี้เลยขอเก็บภาพบริเวณมหาวิทยาลัยแห่งนี้เดี๋ยวดองไว้นานจะไม่ดี






ป้ายบอกทางเข้า Guy's Campus






บริเวณนี้เป็นสวนหย่อมทางเดินเชื่อมระหว่างห้องสมุดกับตึก Reception วันที่ไปนั้นหิมะตกพอดี





ตึกด้านล่างนี้ คือ Hodgkin Building ใช้เป็นอาคารเรียนของหลายคณะและที่สำคัญเป็นที่ทำงานของ Dr Stephen Minger






จะได้เรียนที่นี่หรือไม่ยังไม่ทราบได้ แต่วันนั้นถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่วิเศษมาก