Thursday, November 29, 2007

กลยุทธ์การตรวจจับการเจริญพัฒนาของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในสมองมนุษย์โดยเทคนิควิธี proton magnetic resonance spectroscopy

นับตั้งแต่การค้นพบเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังรวมทั้งในมนุษย์ ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดประสาทดังกล่าวนี้อาจมีความสำคัญในกระบวนการทางสรีรวิทยาพื้นฐานของระบบประสาท การผลิตเซลล์ในระบบประสาท (neural cells) อันได้แก่ เซลล์ประสาท (neurones) โอลิโกเดนโดรไซต์ (oligodendrocytes) และแอสโทรไซต์ (astrocytes) นักวิจัยบางกลุ่มได้เสนอทฤษฏีว่าด้วยบทบาทของการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในตัวเต็มวัย (adult neurogenesis) ต่อกระบวนการจดจำและการเรียนรู้ของสมอง นอกจากนี้แนวทางการระดมเซลล์ต้นกำเนิดประสาท (recruitment of endogenous neural stem cells) เพื่อการเยียวยาสมองเมื่อเกิดพยาธิสภาพและเกิดการบาดเจ็บก็เป็นหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

โดยทั่วไปแล้วการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงเซลล์ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ต้นกำเนิดประสาท (neural stem cells) เซลล์ผู้ผลิตเซลล์ประสาท (neuronal progenitor cells) และเซลล์ประสาทที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้ว (mature neurones) ล้วนอาศัยเทนนิค เช่น immunocytochemistry และ FACS เป็นต้น เพื่อตรวจจับโมเลกุลบ่งชี้ที่อยู่บนเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งต้องอาศัยการทดลองในห้องปฏิบัตการ ในกรณีที่ใช้สัตว์ทดลองเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงจำนวนเซลล์ชนิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทจำเป็นต้องทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตก่อน โดยที่ไม่สามารถตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ในขณะที่สัตว์ทดลองยังมีชีวิตอยู่

ความพยายามตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทได้ประสบความสำเร็จตามลำดับขั้นเมื่อนักวิจัยสามารถใช้เทนนิค magnetic resonance imaging (MRI) และpositron emission topography (PET) เพื่อตรวจจับเซลล์ต้นกำเนิดประสาทหรือเซลล์ประสาทที่ถูกปลูกถ่ายในสมองของสัตว์ทดลอง แต่ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องบ่มเซลล์กับสารที่เรียกว่า contrast agents และสารติดรังสี (radioligands) ซึ่งเซลล์จะต้องนำสารดังกล่าวนี้เข้าสู่เซลล์และกักเก็บไว้ตลอดระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้เครื่องมือ เช่น MRI และPET สามารถตรวจจับเซลล์ชนิดต่างๆ ที่เกิดจากเซลล์ที่ได้รับการปลูกถ่าย ที่เกิดการพัฒนาในระยะต่างๆ ในบริเวณต่างๆ ของสมอง แต่อย่างไรก็ตามเทคนิคดังกล่าวนี้คงไม่สามารถใช้ได้กับเซลล์ต้นกำเนิดประสาทที่มีอยู่แล้วในสมองของมนุษย์หรือเซลล์ต้นกำเนิดประสาทจากแหล่งภายนอกที่จะนำไปปลูกถ่ายในสมองมนุษย์ เนื่องจากกลุ่มสาร contrast agents และสารติดรังสีมีความเป็นพิษค่อนข้างสูงและสารดังกล่าวนี้อาจมีผลต่อกระบวนการเจริญพัฒนาของเซลล์ต้นกำเนิดประสาท

กลุ่มนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งนำทีมโดย Louis N. Manganas ได้ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิค Proton magnetic resonance spectroscopy (1H-MRS) ในการระบุความแตกต่างของสารบ่งชี้ในเซลล์ต้นกำเนิดประสาท เซลล์ประสาท เซลล์แอสโทรไซต์ เซลล์โอลิโกเดนโดรไซต์ รวมทั้งยืนยันการมีอยู่ของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในบริเวณเดนเตตไจรัสของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส และยังรายงานว่าปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ จะลดลงเป็นลำดับอย่างมีนัยสำคัญซึ่งสอดคล้องการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การวิจัยนี้จึงเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งผลการทดลองมีความสอดคล้องกับผลการทดลองในสัตว์ทดลองอื่นๆ ที่มีการตีพิมพิ์แล้ว

ในการทดลองแรกนักวิจัยได้ใช้เซลล์ต้นกำเนิดประสาทชนิด neural progeneitor cells จากสมองของตัวอ่อนของหนูถีบจักรที่มีการเพาะเลี้ยงจนเกิดเป็นกลุ่มเซลล์ค่อนข้างกลมที่เรียกว่า neurosphere ทั้งนี้ตัวอย่างสารบ่งชี้ที่จำเพาะของเซลล์ประสาทคือ N-acetyl aspartate (NAA) 2.02 ppm และสาร choline 3.22 ppm ในเซลล์แอสโทรไซต์ นักวิจัยสามารถระบุสารบ่งชั้จำเพาะกับเซลล์ต้นกำเนิดประสาทดังกล่าวที่ความถี่ 1.28 parts per million (ppm) นอกจากนี้ยังพบว่าความเข้มของสัญญาณที่ความถี่ดังกล่าวแปรผันตรงกับจำนวนเซลล์ต้นกำเนิดประสาท

เมื่อศึกษาเปรียบเทียบสัญญาณที่ความถี่ 1.28 ppm ในเซลล์ต้นกำเนิดประสาทกับ เซลล์กำเนิดจากตัวอ่อน (embryonic stem cells) เซลล์ต้นกำเนิดจากรากขน (hair follicle- derived spheres) เซลล์ตั้งต้นในการสร้างเซลล์โอลิโกเดนโดรไซต์ (oligodendrocyte progenitor cells) และเซลล์ที่อาจพบได้ในเนื้อเยื่อประสาท เช่น แมคโครฝาจ (macrophage) เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด ที (T lymphocytes) และเซลล์ไมโครเกลีย (microglia) และจากการทดลองพบว่าในเซลล์กำเนิดจากตัวอ่อน เซลล์ต้นกำเนิดจากรากขน และเซลล์ตั้งต้นในการสร้างเซลล์โอลิโกเดนโดรไซต์ สามารถตรวจจับความเข้มของสัญญาณที่ความถี่ 1.28 ppm น้อยกว่าในเซลล์ต้นกำเนิดประสาทอย่างมีนัยสำคัญ และตรวจจับสัญญาณได้ในขนาดที่ต่ำมากสำหรับเซลล์แมคโครฝาจ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด ที และเซลล์ไมโครเกลีย

เมื่อเซลล์ต้นกำเนิดประสาทของหนูถีบจักรที่ถูกเพาะเลี้ยงแบบ neurosphere มีการเจริญพัฒนา (differentiation) ไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะ (differentiated cell types) ชนิดต่างๆ พบว่าระดับความเข้มของสัญญาณที่ความถี่ 1.28 ppm ลดลง แต่สัญญาณที่ความถี่ที่จำเพาะสำหรับเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะเช่น ที่ความถี่ 2.02 ppm ของสาร NAA ที่จำเพาะต่อเซลล์ประสาท และที่ความถี่ 3.22 ppm สำหรับสาร choline ในเซลล์แอสโทรไซต์

จากนั้นคณะนักวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบสเปคตรัมของเซลล์จากสมองของตัวอ่อนของหนู (mouse embryos) ถีบจักรวันที่ 12 หลังจากปฏิสนธิ (embryonic day 12; E12) ซึ่งเป็นจุดที่เริ่มมีการสร้างเซลล์ประสาท (developmental neurogenesis) และสมองของหนูถีบจักรในวันที่ 30 ภายหลังจากเกิดแล้ว (P30) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เซลล์ในระบบประสาทชนิดต่างๆ เกือบทั้งหมดได้มีการเจริญพัฒนาสมบูรณ์แล้ว พบว่า E12 มีระดับความเข้มของสัญญาณที่ความถี่ 1.28 ppm ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเซลล์ในระบบประสาทจากหนูถีบจักร P30 ในทางตรงข้ามพบว่าหนูถีบจักร P30 มีสัญญาณของสารบ่งชี้สำหรับเซลล์ที่มีการเจริญพัฒนาแล้วมีระดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับ E12

จบตอนที่ 1

Monday, September 03, 2007

แนวทางการรักษาด้วยการระดมพลเซลล์ต้นกำเนิดประสาทของตัวเราเอง

เรื่องการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดยังคงเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วโลก เมืองไทยเองก็ให้ความสนใจ และในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐบาลก็กำลังควบคุมให้ถูกทิศทาง เพราะบางครั้งประชาชนอาจคาดหวังกับการรักษาด้วยวิธีนี้มากจนลืมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปและความเสี่ยงที่ไม่ได้สูญหายไปด้วย แต่วันนี้ผมไม่ได้มาบอกสถานที่รักษานะครับ ผมเพียงต้องการเสนอว่าต่อไปภายหน้าซึ่งไม่รู้นานเท่าไหร่เราในฐานะคนธรรมดาอาจจะได้รักษาโรคทางสมองด้วยเซลล์ต้นกำเนิดสมองของเราเองและด้วยตัวเราเอง

โดยทั่วไปแล้ววิธีการใช้ประโยชน์จากเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในทางคลินิกอาจแบ่งได้เป็น 2 กลยุทธ์หลัก คือ

1. การเสริมเซลล์ต้นกำเนิดประสาทจากภายนอก (neural stem cell replacement therapy) เช่น ฉีดเซลล์จากภายนอกเข้าไปในร่างกาย ในสมองบริเวณที่ต้องการ เป็นต้น

2. การระดมเซลล์ต้นกำเนิดประสาทจากภายในร่างกายของเราเอง (neural stem cell recruitment therapy)

ผมมีความเชื่อว่าสักวันวิธีที่สองจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เลยขอเกริ่นคร่าวๆ ว่าแนวทางนี้เป็นอย่างไร เนื่องจากว่าเซลล์ต้นกำเนิดประสาทที่มีอยู่แล้วในสมองของคนเรา ใครๆ ก็มีจะยากดีมีจนทุกคนมีเหมือนกัน แต่ละวันเซลล์ต้นกำเนิดประสาทเหล่านี้ก็แบ่งตัวให้เซลล์ประสาทใหม่ แต่ว่าสมองบางบริเวณเท่านั้นที่มีเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้อาศัยอยู่ (ปัจจุบันยอมรับกันว่าคือ SVZ และ SGZ แต่มีอีกหลายบริเวณที่เป็นที่ถกเถียงในแวดวงวิชาการว่าอาจจะมีเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้) เมื่อเกิดการบาดเจ็บของสมองขึ้น เช่น stroke และ traumatic brain injury เป็นต้น เซลล์เหล่านี้เช่นใน SVZ ก็จะแบ่งตัว พัฒนาตัวเองไปเป็นเซลล์ประสาท และเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่เกิดการบาดเจ็บนั้นๆ

แต่ศักยภาพที่สมองจะเยียวยาตัวเองนั้นมันน้อยมากเพราะมีสารต่างๆมากมายที่อยู่ในโครงสร้างสมอง ที่ควบคุม ปรับแต่งกระบวนการเยียวยาดังกล่าว นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกร่างกายก็มีผลอย่างมาก ตอนนี้นักวิจัยและบริษัทยาต่างก็รีบศึกษากลไกการเเบ่งตัว เจริญพัฒนา และการเดินทางของเซลล์ประสาท (neuronal migration) สักวันอาจจะมียากลุ่ม A ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดประสาทแบ่งตัวมากขึ้น ยากลุ่ม B ช่วยพัฒนาและยืดอายุเซลล์ประสาทให้อยู่นานขึ้น ยากลุ่ม C ช่วยเป็นไกด์พาเซลล์ประสาทเดินทางไปยังบริเวณที่ต้องการแบบสั่งได้ หรือแนวทางเสริมที่อาจจะไม่ต้องอาศัยยา เช่น การเพิ่มพูนสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ (environmental enrichment) การออกกำลังกาย การฝึกด้านการรู้คิด เป็นต้น


ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้ใช้จริง แต่ในอนาคตความก้าวหน้าที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น การเยียวยาตนเองด้วยเซลล์ต้นกำเนิดประสาทของตัวเราเองโดยอาศัยปัจจัยภายนอกมาปรับเสริมจึงเป็นอีกหัวข้อการศึกษาที่น่าสนใจมากครับ...โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

Sunday, September 02, 2007

การได้รับสารปรอทในช่วงเด็กอ่อนทำให้เซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสตาย ลดการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ และนำไปสู่ความบกพร่องในการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

มีปัจจัยหลายอย่างทั้งภายในร่างกายและปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก สารพิษปรอทในรูป methylmercury (MeHg) จึงถูกนำมาใช้ในการทดลองครั้งนี้ คณะนักวิจัยนำทีมโดย Falluel-Morel A ได้ฉีดสารปรอทนี้ให้กับลูกหนูขาวอายุ 7 วันแล้วตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรมและเซลล์ของเซลล์ประสาท พบว่ามีการตายของเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น ขนาดของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสลดลง การแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทเพื่อสร้างเซลล์ประสาทใหม่เกิดน้อยลง และต่อมาเมื่อนำหนูที่กำลังเติบโตมาทดสอบการเรียนรู้ก็พบว่ามีการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าหนูกลุ่มควบคุม

รายงานนี้เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสารพิษที่เด็กได้รับสามารถเกิดผลเสียทำร้ายสมองของเด็กได้ในระยะยาว โดยสมองของที่เด็กที่กำลังพัฒนาจะยิ่งไวต่อปัจจัยทางลบที่ทำให้โครงสร้างและการทำงานของสมองผิดปกติ โดยเฉพาะสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่มีความสำคัญเปรียบเสมือนศูนย์กลางการเรียนรู้ของสมอง นอกจากปรอทแล้ว สารเสพติดชนิดอื่นๆ ก็มีผลยับยั้งการสร้างเซลล์ประสาทใหม่และทำให้การเรียนรู้บกพร่องได้เช่นเดียวกัน สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาบ้า โคเคน เป็นต้น สารเหล่านี้ล้วนทำร้ายโครงสร้างของสมองและมีผลต่อการทำงานของสมองในเด็กได้อย่างน่าสะพรึงกลัว


เอกสารอ้างอิง
1. Developmental mercury exposure elicits acute hippocampal cell death, reductions in neurogenesis, and severe learning deficits during puberty.2007 Aug 30

Saturday, August 11, 2007

ประสาทชีววิทยาการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของการเรียนรู้

ช่วงนี้งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาท (adult neurogenesis) กำลังเข้มข้น แต่ละวันมีงานวิจัยใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นตีพิมพิ์ในวารสารวิชาการชื่อดัง หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน (นอกเมืองไทย!) ก็สนใจรายงานข่าวพอสมควร วันนี้มีรายงานวิจัยมานำเสนอหลายเรื่องครับ

เป็นที่ทราบกันดีว่าการเรียนรู้ (learning) มีผลต่อกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่และการเติบโตของเซลล์เหล่านี้ รวมทั้งเกิดไซแนปส์ (synapse) ไปเชื่อมต่อกับวงจรประสาทที่สมบูรณ์ คณะนักวิจัยจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสพบว่าการเรียนรู้ในรูปแบบ spatial learning เพิ่มการอยู่รอดของเซลล์ประสาทที่ค่อนข้างโตเต็มที่ และกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ตั้งต้นของเซลล์ประสาท (neuronal precursors) แต่กลับเพิ่มการตายแบบอะพ๊อบโตซิส (apoptosis) ในเซลล์ประสาทที่อายุยังน้อย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับกระบวนการที่เรียกว่า selective stabilization process กล่าวคือในระยะที่มีการเจริญพัฒนาของระบบประสาท เซลล์ประสาทจำนวนมากจะถูกสร้างขึ้น หากเซลล์ประสาทเกิดการกระตุ้นและทำงานเชื่อมต่อกับวงจรประสาทได้ก็จะสามารถอยู่รอดและทำหน้าที่ต่อไป ในขณะเดียวกันเซลล์ประสาทจำนวนมากประมาณร้อยละ 50 ก็จะตายไปด้วยกระบวนการอะพ๊อบโตซิส

ผลงานวิจัยชิ้นนี้โดดเด่นมาก กล่าวคือคณะวิจัยสามารถชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการตายแบบอะพ๊อบโตซิสในเซลล์ประสาทที่เกิดขึ้นใหม่แต่ยังไม่โตเต็มที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของกระบวนการเรียนรู้ การตายดังกล่าวจำเป็นต่อการกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดประสาทแบ่งตัวให้เซลล์ประสาทเพิ่มมากขึ้น และยังส่งเสริมการอยู่รอดของเซลล์ประสาทที่ค่อนข้างโตเต็มที่ โดยเมื่อคณะนักวิจัยให้สารยับยั้งการตายแบบอะพ๊อบโตซิส พบว่าหนูมีการเรียนรู้ที่บกพร่องเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดประสาทแบ่งตัวลดลง และลดอัตราการอยู่รอดของเซลล์ประสาทที่ค่อนข้างโตเต็มที่ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเซลล์ประสาทใหม่ที่เกิดขึ้นมากมายหลายพันเซลล์ในแต่ละวันจะคงอยู่ตลอดไปได้ทั้งหมด การเรียนรู้ทำให้มีการเพิ่มเติมเซลล์ประสาทใหม่เข้าไปในวงจรประสาทเดิม แต่ในขณะเดียวกันการเรียนรู้ก็มีผลทำให้เซลล์ประสาทบางกลุ่มตายไปด้วยเช่นกัน และการตายของเซลล์ประสาทดังกล่าวนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเพาะ


เอกสารอ้างอิง
David Dupret และคณะ, Spatial Learning Depends on Both the Addition and Removal of New Hippocampal Neurons, PLoS BIOLOGY, August 2007 , Volume 5, Issue 8, 1683-1694

Friday, July 20, 2007

สารเคอร์คิวมินเพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เพิ่มปริมาณอาร์เอ็นเอของตัวรับซีโรโตนิน 5-HT1A และเพิ่มโปรตีน BDNF ในหนูขาวที่ซึมเศร้า

วันนี้เป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งครับ เกี่ยวกับสารเคอร์คิวมินที่เมืองไทยเราโด่งดังจากครีมหน้าเด้ง แต่ประโยชน์ของสารตัวนี้มีหลายด้านจนถือว่าเป็นพระเอกดาวรุ่งเลยก็ว่าได้ บทความที่ผมนำมาเล่านี้เป็นงานวิจัยจากคณะนักวิจัยจาก Peking University ประเทศจีน และ University of Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการทดลองเรื่องฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าของเคอร์คิวมินมาตั้งแต่ต้น คือเรียกว่าจับให้มั่นคั้นให้ตายกับเรื่องนี้ จนวันนี้ทีมวิจัยก็สามารถไขความลับเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของเคอร์คิวมินได้อย่างน่าตื่นเต้น ที่สำคัญคือบทความนี้ส่งตีพิมพิ์ในเดือนพฤษภาคมและมีเอกสารเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเดือนกรกฏาคมซึ่งระยะเวลาค่อนข้างสั้น แสดงว่าบทความนี้มีความสำคัญจึงสมควรที่นักวิจัยทั่วโลกจะได้รีบต่อยอดองค์ความรู้นี้ให้เร็วขึ้น

เคอร์คิวมินเป็นสารที่มีอยู่ในสมุนไพรขมิ้นชันที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa เคอร์คิวมินมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านอ็อกซิเดชั่น ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฤทธิ์ปกป้องสมอง ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด เป็นต้น การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่าสารเคอร์คิวมินแสดงฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า (antidepressant activity) ในสัตร์ทดลองและมีการใช้สมุนไพรขมิ้นชันรักษาอาการเครียดและซึมเศร้า ในมนุษย์ตามแนวทางการแพทย์แผนจีน

การทดลองนี้ได้ทำให้หนูขาวเกิดอาการซึมเศร้าในรูปแบบ chronic unpredictable stress model ด้วยแนวคิดที่ว่าความเครียดมีผลต่อระบบ HPA axis ทำให้ฮอร์โมนความเครียดพวก glucocrticoids เพิ่มมากขึ้นและเชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสตายและอาจเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้า การศึกษานี้ให้สารเคอร์คิวมินทางปากในขนาด 5, 10 and 20 mg/kg แล้ววัดการแบ่งตัวของเซลล์ (cell proliferation) และตรวจจับสารบ่งชี้ (neuronal marker) ที่แสดงถึงเซลล์ประสาทที่โตเต็มที่ จากการทดลองพบว่าเคอร์คิวมินในขนาด 10 และ 20 mg/kg เพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampal neurogenesis) ซึ่งผลนี้คล้ายกับการให้ยา imipramine ทางช่องท้อง ในขนาด10 mg/kg

เมื่อตรวจสอบกลไกการออกฤทธิ์เพิ่มเติมพบว่าสารเคอร์คิวมินเพิ่มจำนวนตัวรับสารสื่อประสาทซีโรโตนินชนิด 5-HT(1A) receptors และสารควบคุมการเจริญพัฒนาเซลล์ระบบประสาทที่ชื่อ brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยหลายกลุ่มที่ระบุว่า ตัวรับดังกล่าวมีบทบาทกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทให้เป็นเซลล์ประสาท และการให้สารยับยั้งที่เรียกว่า receptor antagonist พบว่าทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในบริเวณเดนเตตไจรัสของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสลดลง

ดังนั้นสารเคอร์คิวมินที่มีอยู่ในขมิ้นชันอาจออกฤทธิ์เป็นสารต้านอาการซึมเศร้าโดยการเพิ่มจำนวนตัวรับชนิด 5-HT1A receptor และสาร BDNF นำไปสู่การเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งทำให้หนูที่เครียดเรื้อรังจนเกิดอาการซึมเศร้ามีการฟื้นตัวดีขึ้นและอาจออกฤทธิ์ปกป้องการสูญเสียเซลล์ประสาทจากความเครียดซึ่งอาจช่วยอธิบายผลทางเภสัชวิทยาที่เกิดขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง
  • Ying Xu และคณะ, Curcumin reverses impaired hippocampal neurogenesis and increases serotonin receptor 1A mRNA and brain-derived neurotrophic factor expression in chronically stressed rats, Brain Res. (2007), doi:10.1016/j.brainres.2007.05.071

Monday, July 09, 2007

บทบาทของฟีโรโมนต่อการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองส่วนออลแฟกตอรีบัลบ์และฮิปโปแคมปัส

การรับสัมผัสทางเคมี (chemosensation) เป็นกระบวนการตรวจจับโมเลกุลเคมีจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายซึ่งมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ระบบการรับสัมผัสทางเคมี ได้แก่ การรับสัมผัสกลิ่น (smell) และการรับสัมผัสรส (taste) ซึ่งต้องทำหน้าที่รับข้อมูลจากโมเลกุลเคมีมากมายที่มนุษย์เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน ระบบการรับสัมผัสกลิ่นอาจแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลัก คือ main olfactory system ซึ่งรับผิดชอบการตรวจจับกลิ่นทั่วไป และ vomeronasal system หรืออาจเรียกว่า accessory olfactory system ซึ่งหน้าที่หลักส่วนหนึ่งเชื่อว่าใช้สำหรับตรวจจับ “ฟีโรโมน” ความสนใจเรื่องการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์ (adult neurogenesis) เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยไขความลับการทำงานของระบบการรับสัมผัสกลิ่นซึ่งสัมพันธ์กับความจำที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น (olfactory memory) นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าบริเวณที่มีคุณสมบัติในการผลิตเซลล์ประสาทใหม่ (neurogenic regions) ได้แก่ subventricular zone ของโพรงสมองด้านข้างส่วนหน้าซึ่งผลิตเซลล์ประสาทให้กับออลแฟกตอรีบัลบ์ในระบบประสาทรับกลิ่น และบริเวณ subgranular zone ในส่วนเดนเตตไจรัสของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านความจำและการเรียนรู้ของสมอง ในบทความนี้ให้จึงความสนใจเฉพาะฟีโรโมนและผลต่อกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองบริเวณดังกล่าว


ฟีโรโมนคืออะไร?

คำว่า ฟีโรโมน (pheromone) นั้นเกิดจากการรวมกันขอคำในภาษากรีก “pherein” ที่แปลว่า to carry และ “hormon” ที่แปลว่า to excite โดยกลุ่มนักวิจัยยุคแรก คือ Karlson และ Luscher ได้คิดค้นคำนี้ในปี ค.ศ. 1959 และอาจเรียกฟีโรโมนว่า ecto-hormones กล่าวคือ เป็นสารเคมีที่หลั่งออกจากร่างกายแล้วไปมีผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิด (สปีชีส์) เดียวกัน เช่น ฟีโรโมนที่มดหลั่งออกมาไม่ได้มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และฟีโรโมนที่มนุษย์เราผลิตขึ้นก็มีผลต่อมนุษย์เราด้วยกันเองเท่านั้น เป็นต้น เมื่อโมเลกุลของฟีโรโมนถูกหลั่งออกจากร่างกายทั้งจากระบวนการของร่างกายเราเองและปฏิกิริยาชีวเคมีของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เช่น จากบริเวณรักแร้ สารคัดหลั่งที่อวัยวะเพศ น้ำปัสสาวะ และผิวหนังทั่วไป เป็นต้น เดินทางผ่านตัวกลางในอากาศ เมื่อจับกับตัวรับซึ่งคาดว่าเป็นตัวรับชนิดที่เรียกว่า vomeronasal receptors ที่จมูกแล้วจึงส่งสัญญานข้อมูลไปยัง olfactory bulb และประมวลผลขั้นสูงยังสมองส่วนต่างๆ ต่อไป





ความจำที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น


ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สารที่ให้กลิ่น (odorant) ที่ถูกสูดดมผ่านเข้าไปยังจมูกซึ่งไปจับกับตัวรับที่จำเพาะบนเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ประสาทรับกลิ่น (olfactory receptor neuron) ที่อยู่บนเยื่อ olfactory epithelium เมื่อเซลล์ประสาทดังกล่าวถูกกระตุ้นจึงส่งสัญญาณประสาทออกไปทางแอกซอนที่มัดเป็นเส้นประสาท olfactory nerve เข้าสู่ออลแฟกตอรีบัลบ์ โดยแอกซอนดังกล่าวเกิดการขดกันไปมาเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า glomulerus ซึ่งจะเกิดไซแนปส์กับเดนไดรต์ของเซลล์ประสาทที่ชื่อว่า เซลล์ไมทรัล (mitral cell) และเซลล์อื่นๆ


ต่อจากนั้นเซลล์ไมทรัลจะส่งข้อมูลผ่านแอกซอนไปเกิดไซแนปส์กับเซลล์ประสาทในส่วน piriform cortex ซึ่งเกี่ยวข้องกับการระบุกลิ่น amygdale ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ การประทะสังสรรค์ทางสังคมและการตระหนักรู้ถึงสัตว์ใรสปีชีส์เดียวกัน และ entorhinal cortex ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เชื่อมต่อกับสมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องความจำและการเรียนรู้ การรับสัมผัสกลิ่นมีความเกี่ยวข้องกับความจำประเภทที่เรียกว่า olfactory memory มนุษย์เราต้องสัมผัสโมเลกุลจากกลิ่นจำนวนมาก เซลล์ประสาทที่โพรงจมูกมีอัตราการทำลายและเกิดการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา เซลล์ต้นกำเนิดในโพรงจมูกที่ชื่อ globose basal cell (GBCs) ก็มีการแบ่งตัวทดแทนในภาวะปกติและในภาวะที่เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อย และเมื่อเกิดภาวะบาดเจ็บขั้นรุนแรงเซลล์ต้นกำเนิดที่ชื่อ horizontal basal cell (HBCs) ก็จะทำหน้าที่แบ่งตัวให้เซลล์ที่หลากหลายชนิดกว่าเซลล์ต้นกำเนิดประเภทแรก เซลล์ต้นกำเนิดประสาทเมื่อแบ่งตัวที่บริเวณ subventricular zone ในส่วนหน้าของโพรงสมองด้านข้างแล้วจะต้องเดินทางไปยัง olfactory bulb และพัฒนาเป็นเซลล์ประสาทที่โตเต็มที่เพื่อทำหน้าจำเพาะในระบบประสาทรับกลิ่น

การเกิดใหม่ของเซลล์ประสาท

การเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์เกิดได้ตลอดชีวิตแต่มีอัตราการสร้างที่ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น การเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทหลังการเกิด (adult neurogenesis) หมายถึงกระบวนการแบ่งตัว (cell proliferation) ของเซลล์ต้นกำเนิดประสาท (neural stem cells) มีการพัฒนาเป็นเซลล์ประสาทที่สมบูรณ์ รวมทั้งมีการเดินทาง (neuronal migration) ไปยังตำแหน่งที่ถูกต้อง สามารถเกิดไซแนปส์และทำงานเชื่อมต่อกับกลุ่มเซลล์ประสาทเดิมได้ แต่วิธีการวัดการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทที่นิยมแต่ไม่ครอบคลุมนิยามดังกล่าว คือ การวัดการแบ่งตัวของเซลล์ประสาทโดยใช้ bromodeoxyuridine (BrdU) ซึ่งเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวแบบไมโตซิสจะดึงสารดังกล่าวไปใช้ไปในเซลล์เพื่อสร้างสารพันธุกรรม แล้วนักวิจัยใช้แอนติบอดีต่อ BrdU ในการตรวจจับ

ถึงแม้ว่าการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองส่วนต่างๆ เป็นที่โต้แย้งในเชิงวิชาการและยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าบริเวณที่มีคุณสมบัติในการผลิตเซลล์ประสาทใหม่ (neurogenic regions) ได้แก่ subventricular zone ของโพรงสมองด้านข้างส่วนหน้า (anterior lateral ventricles ) และบริเวณ subgranular zone ในส่วนเดนเตตไจรัสของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านความจำและการเรียนรู้ของสมอง





การรับสัมผัสกลิ่นมีความเกี่ยวข้องกับความจำที่เรียกว่า olfactory memory มนุษย์เราต้องสัมผัสโมเลกุลจากกลิ่นจำนวนมาก เซลล์ประสาทที่โพรงจมูกมีอัตราการทำลายและเกิดการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือเซลล์ต้นกำเนิดประสาทที่แบ่งตัวที่บริเวณ subventricular zone พัฒนาเป็นเซลล์ประสาทแล้วต้องเดินทางผ่านช่องทาง rostral migratory stream เป็นขบวนในรูปแบบที่เรียกว่า neuronal chains ไปยัง olfactory bulb เพื่อทำหน้าในระบบประสาทรับกลิ่น พบว่าการตั้งครรภ์และพฤติกรรมการหาคู่ครองเพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในออลแฟกตอรีบัลบ์
ภาพแสดงกระบวนการการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในส่วนเดนเตตไจรัสของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส

ในขณะเดียวกันเซลล์ต้นกำเนิดในส่วนเดนเตตไจรัสก็แบ่งตัวและพัฒนาไปเป็นเซลล์ประสาทชนิด granule cells ยื่นเดนไดรต์ไปเกิดไซแนปส์กับเซลล์ประสาทในชั้น molecular layer และยื่นแอกซอนไปเกิดไซแนปส์กับเซลล์ประสาทบริเวณ CA3 เซลล์ประสาทที่เกิดใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสนี้เชื่อว่าทำหน้าที่สร้างรหัสความจำสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดใหม่ซึ่งเชื่อมโยงในบริบทเดียวกัน (contextual learning and memory) การศึกษาก่อนหน้าระบุว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในส่วนเดนเตตไจรัส เช่น การวิ่ง การจำกัดอาหาร สภาพแวดล้อมที่เสริมการเรียนรู้ การเรียนรู้ และยารักษาโรคซึมเศร้า เป็นต้น

ฟีโรโมนเพศกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่

คณะนักวิจัยจากแคนาดา อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันศึกษาบทบาทของฟีโรโมนต่อการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาท โดยเลี้ยงหนูถีบจักรเพศผู้ซึ่งปล่อยให้ปัสสาวะลงพื้นดินได้ตามปกติ จากนั้นนำดินที่พื้นซึ่งมีปัสสาวะปนอยู่ด้วยให้หนูเพศเมียสูดดม โดยในน้ำปัสสาวะของหนูถีบจักรเพศผู้มีฟีโรโมนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่ง พบว่าในหนู่หกลุ่มนี้มีระดับการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาททั้งในส่วนเดนเตตไจรัสและในบริเวณ subventricular zone เพิ่มขึ้น ส่วนหนูเพศเมียที่ดมกลิ่นมะพร้าวหรือกลิ่นอัลมอนด์กลับไม่พบการเพิ่มขึ้นของการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในทั้งสองบริเวณดังกล่าว การกำจัดเทสโทสเตอโรน (testosterone) ทำให้ไม่สามารถตรวจพบฟีโรโมนในน้ำปัสสาวะเนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวเป็นสารตั้งต้นในการสร้างฟีโรโมน คณะนักวิจัยจึงตัดอัณฑะของหนูถีบจักรเพศผู้เพื่อไม่ให้มีสารตั้งต้นในการสร้างฟีโรโมน จากนั้นนำเอาดินที่พื้นของหนูกลุ่มนี้ไปให้หนูถีบจักรเพศเมียสูดดม จากการทดลองไม่พบการเพิ่มขึ้นของการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ทั้งในส่วน subventricular zone และในออลแฟกตอรีบัลบ์

จากความรู้ที่ว่าหนูถีบจักรเพศเมียมีความพึงพอใจต่อกลิ่นของหนูถีบจักรเพศผู้ที่ไม่เป็นหมันและกลิ่นของหนูที่เป็นผู้นำกลุ่ม (dominant-male mice) นักวิจัยจึงเปรียบเทียบผลของฟีโรโมนในปัสสาวะระหว่างหนูผู้นำกับหนูผู้ตามต่อการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ทั้งในส่วนเดนเตตไจรัสและในออลแฟกตอรีบัลบ์ จากการทดลองพบว่าหนูถีบจักรเพศเมียที่ได้รับฟีโรโมนจากหนูถีบจักรเพศผู้ที่เป็นผู้นำมีการเพิ่มการแบ่งตัวสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในส่วนเดนเตตไจรัสร้อยละ 29และในบริเวณ subventricular zone ร้อยละ 23 โดยเปรียบเทียบกับหนูถีบจักรเพศเมียที่ได้รับฟีโรโมนจากหนูถีบจักรเพศผู้ที่เป็นผู้ตาม

เนื่องจากมีข้อมูลหลายส่วนสนับสนุนว่าฟีโรโมนออกฤทธิ์ผ่าน vomeronasal system แต่จากการศึกษาก่อนหน้าพบว่าเมื่อให้สารหลั่งล้างในจมูก (intranasal irrigation) คือ ZnSO4 ซึ่งมีผลทำลายเซลล์ประสาทรับกลิ่นหลักใน main olfactory epithelium แต่ไม่ได้มีผลต่อ vomeronasal system พบว่าสามารถทำลายความพึงพอใจของหนูเพศเมียต่อกลิ่นปัสสาวะจากหนูเพศผู้ที่เป็นผู้นำและจากหนูที่ไม่ถูกตัดอัณฑะ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงทดลองหลั่งล้างช่องจมูกของหนูถีบจักรเพศเมียโดยเปรียบเทียบกับการใช้น้ำเกลือเป็นสารหลั่งล้าง จากการทดลองไม่พบว่ามีการเพิ่มการแบ่งตัวสร้างเซลล์ประสาทใหม่ทั้งในส่วนเดนเตตไจรัสและในบริเวณ subventricular zone ดังนั้น ผลของฟีโรโมนจากหนูถีบจักรเพศผู้ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทรับกลิ่นหลัก (main olfactory system) ของหนูถีบจักรเพศเมียในการเพิ่มการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาททั้งในส่วนเดนเตตไจรัสและในบริเวณ subventricular zone

สารบ่งชี้ (marker) ที่นักวิจัยใช้ตรวจวัดเซลล์ประสาทตั้นต้น (neuronal progenitor) คือ doublecortin โดยพบว่าฟีโรโมนจากหนูถีบจักรเพศผู้เพิ่มเซลล์ประสาทตั้นต้นในสมองของหนูถีบจักรเพศเมียส่วน subventricular zone ร้อยละ 55 และในเดนเตตไจรัสร้อยละ 38 และเมื่อตรวจวัดเซลล์ประสาทที่เจริญเต็มที่ (mature neurone) หลังจากฉีด bromodeoxyuridine (BrdU) ได้ 4 สัปดาห์ โดยใช้สารบ่งชี้เซลล์ประสาทที่เจริญเต็มที่ คือ NeuN พบเซลล์ที่มีทั้ง BrdU และ NeuN ในออลแฟกตอรีบัลบ์ร้อยละ 38 และในส่วนเดนเตตไจรัสร้อยละ 47 ดังนั้นฟีโรโมนจากหนูถีบจักรเพศผู้ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทรับกลิ่นหลักโดยเพิ่มทั้งการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทและการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนออลแฟกตอรีบัลบ์และเดนเตตไจรัสของหนูถีบจักรเพศเมีย


ภาพแสดงการเจริญพัฒนาของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะในระบบประสาท

คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเพิ่มเติมโดยนำส่งฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) ใต้ผิวหนัง (subcutaneous) พบการแบ่งตัวของเซลล์ในส่วนเดนเตตไจรัสเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 และในบริเวณ subventricular zone เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 นอกจากนี้เมื่อให้ LH แก่หนูเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ ยังพบการแบ่งตัวของเซลล์ในส่วนเดนเตตไจรัสและ subventricular zone ซึ่งแสดงว่าผลที่เกิดขึ้น เกิดจาก LH โดยตรงไม่ได้เป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อตรวจวัดเซลล์ประสาทที่โตเต็มที่ในสมองส่วนออลแฟกตอรีบัลบ์และเดนเตตไจรัสของหนูถีบจักรเพศเมีย พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 และร้อยละ 33 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามเมื่อคณะนักวิจัยได้ตัดแต่งพันธุกรรมหนูถีบจักรเพศเมียโดยยับยั้งการทำงานของยีนสำหรับตัวรับ LH (Luteinizing hormone receptor) พบว่าหนูถีบจักรเพศเมียทั้งกลุ่มที่ปกติและกลุ่มที่ถูกยับยั้งการทำงานของยีนสำหรับตัวรับ LH มีการแบ่งตัวของเซลล์ในบริเวณ subventricular zone ร้อยละ 22 เฉพาะหนูถีบจักรเพศเมียกลุ่มที่ปกติที่มีตัวรับ LH เท่านั้นที่พบการแบ่งตัวของเซลล์ในส่วนเดนเตตไจรัสเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และเนื่องจากฟีโรโมนเพศชายมีผลเพิ่มทั้งฮอร์โมน LH และโปรแลกติน นักวิจัยจึงทดลองอีกขึ้นโดยให้โปรแลกตินใต้ผิวหนัง พบว่ามีการแบ่งตัวของเซลล์ในส่วน subventricular zone เท่านั้น และเมื่อยับยั้งการทำงานของยีนสำหรับตัวรับโปรแลกตินไม่พบว่ามีการแบ่งตัวของเซลล์ในส่วน subventricular zone ดังนั้นผลของฟีโรโมนจากหนูถีบจักรเพศผู้เกิดจากฮอร์โมนโปรแลกติน (prolactin) ไปมีผลต่อออลแฟกตอรีบัลบ์และฮอร์โมน Luteinizing hormone ไปมีผลส่วนเดนเตตไจรัส

เมื่อคณะนักวิจัยยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ทั้งในส่วนเดนเตตไจรัสและในออลแฟกตอรีบัลบ์ โดยใช้สารยับยั้งการแบ่งตัวแบบไมโตซิสของเซลล์ตั้งต้นประสาท คือ cytosine arabinoside (AraC) พบว่าสามารถยับยั้งพฤติกรรมของหนูถีบจักรเพศเมียในการเลือกหนูถีบจักรเพศผู้ที่เป็นใหญ่ในกลุ่ม นักวิจัยจึงสรุปว่าการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทอาจมีบทบาทในพฤติกรรมความพึงพอใจในการเลือกคู่ครอง

ความสำคัญของระบบฟีโรโมนต่อการเกิดใหม่ของเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์อาจคล้ายคลึงกับกลไกที่เกิดขึ้นในสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ และจากการศึกษาภาพถ่ายสมองโดยใช้เทคนิค functional Magnetic Resonance Imaging (fMRI) พบว่าบริเวณสมองส่วนไฮโปธารามัสของเพศหญิงถูกกระตุ้นเมื่อได้รับกลิ่นจากสารเคมีที่เป็นอนุพันธุ์ของสารที่หลั่งจากรักแร้ของเพศชาย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากสารคัดหลั่ดของรักแร้มีผลต่ออารมณ์และระดับการหลั่งฮอร์โมน LH จึงเป็นไปได้ว่าฟีโรโมนอาจจะเกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นของสมองในระดับการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองของมนุษย์

เอกสารอ้างอิง
1. Gloria et al, Male pheromone-stimulated neurogenesis in the adult female brain: possible role in mating behavior, Nature Neuroscience, Published online 1 July, 2007
2. Cynthia D Duggan and John Ngai, Scent of a stem cell, Nature Neuroscience, volume 10, June 2007, 673-674
3. James V. Kohl et al, Human Pheromones: Integrating Neuroendocrinology and Ethology, Neuroendocrinology Letters, volume 22, 2001, 309–321
4. Jason G Emsley et al, Adult neurogenesis and repair of the adult CNS with neural progenitors, precursors, and stem cells, Progress in Neurobiology, volume 75, April 2005, 321-341
5. Peter Mombaerts, Genes and ligands for odorant, vomeronasal and taste receptors, Nature Review Neuroscience, Volume 5, April 2004, 263-278

Thursday, June 21, 2007

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบโปรตีนส่งสัญญาณความเจ็บปวดที่เกิดจากความเย็น

เมื่อเราสัมผัสอาการที่เย็นจัดมากคงจะรู้สึกได้ถึงความปวดที่ตาม ระบบชีวภาพของมนุษย์เรามีการรับความรู้สึกผ่านการทำงานโปรตีนที่หลากหลาย นักสรีรวิทยาที่ชื่อ Katharina Zimmermann และคณะจาก University of Erlangen-Nuremberg ประเทศเยอรมนีได้ศึกษาบทบาทของโปรตีนที่ชื่อ Nav1.8 โดยพบว่าปกติแล้วถ้าเรานำหนูถีบจักรไปไว้บนพื้นที่เย็นจัดถึง 0 องศาเซลเซียส หนูก็จะกรโดดและพยายามยกเท้าขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด แต่ในหนูกลุ่มทดลองที่ยีนของโปรตีน Nav1.8 ไม่ทำงานแล้วกลับไม่รู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในภาวะอันตรายจากความเย็น

โปรตีนนี้ทำงานโดยขนส่งไอออนโซเดียมผ่านเข้าเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทเพื่อส่งสัญญาณการรับความรู้สึกโดยเฉพาะความเย็นไปยังระบบประสาทส่วนกลางในท้ายสุด โปรตีนชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถทำงานได้ดีในสภาพอุณหภูมิต่ำซึ่งแตกต่างจากโปรตีนโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามนักวิจัยกลุ่มอื่นเสนอว่าโปรตีนชนิดชี้อาจมีหน้าที่ในการรับความรู้สึกอย่างอื่นด้วย เช่น ความร้อนและแรงดัน เป็นต้น

อ้างอิง
1. http://www.nature.com/news/2007/070611/full/070611-8.html
2. Zimmerman K., et al. Nature, 447 . 855 - 858 (2007).

Tuesday, June 12, 2007

ขดแม่เหล็ก TMS เพิ่มการเรียนรู้เซลล์ประสาทในขั้นตอน LTP และกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในฮิปโปแคมปัส


Transcranial magnetic stimulation (TMS) ได้ถูกใช้ในการทดลองเพื่อรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคซึมเศร้า (depression) โรคจิตเภท (schizophrenia) และใช้ในการฟื้นฟูผู้ป่วยภายหลังจากเกิดเส้นเลือดตีบหรือแตกในสมองหรือสโตร๊ก (stroke) TMS ใช้ขดแม่เหล็กในการเหนี่ยวนำให้กลุ่มเซลล์ประสาทเกิดการทำงานมากขึ้นหรืออาจยับยั้งการทำงานให้ลดลงโดยมีทฤษฏีหนึ่งเชื่อว่าวิธีการเช่นว่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำและการเรียนรู้โดยการเสริมพลังกระบวนการ Long-term potentiation (LTP)


นักวิจัยที่นำโดย Fortunato Battaglia และคณะจาก City University of New York ได้ทดลองให้ TMS แก่หนูถีบจักร (mice) เป็นเวลาห้าวัน พบว่า TMS เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการ LTP ในบริเวณสมองหลายแห่งโดยเปลี่ยนแปลงการทำงานของตัวรับกลูตาเมต (glutamate receptors) ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เช่น ตัวรับ AMPA และตัวรับ NMDA นอกจากนี้ยังพบการแบ่งตัว (proliferation) ของเซลล์ต้นกำเนิดประสาท (neural stem cells) ในบริเวณเดนเตตไจรัส (dentate gyrus) ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) เพื่อสร้างเป็นเซลล์ประสาทใหม่ในกระบวนการที่เรียกว่า adult neurogenesis


หากผลที่เกิดในคนเราไม่ต่างจากหนู ก็อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้อาจจะมีบทบาทในการรักษาและฟื้นฟูโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท เป็นต้น นอกจากนี้อาจจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในกระบวนการจำและการเรียนรู้ของคนเรา


คลิกอ่านที่มาของข่าวจาก New Scientist

Thursday, June 07, 2007

เซลล์ไมโครเกลียที่มีเหล็กมากผิดปกติตั้งแต่เด็กอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคฮันติงตัน (Huntington's disease) เมื่อโตขึ้น

โรคฮันติงตัน (Huntington's Disease; HD) มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางประสาทพยาธิวิทยาในเนื้อสมองส่วนสไตรตัม (striatum) คือ สูญเสียเซลล์ประสาทที่เรียกว่า medium-spiny neurons, เกิดการสะสมโปรตีนฮันติงติน (huntingtin protein) ในนิวเคลียส เกิดภาวะ gliosis และมีปริมาณเหล็ก (iron) มากผิดปกติ

งานวิจัยนี้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระดับเหล็กในหนูถีบจักรที่ทำให้เป็นโรคฮันติงตัน (R6/2 transgenic mouse model of HD) เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมพบการสะสมของเฟอริติน (ferritin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยเก็บสะสมเหล็กในสมองส่วนสไตรตัมตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์แรกหลังจากเกิด และเริ่มพบการเพิ่มขึ้นของเฟอริตินได้ในสมองส่วนคอร์เท็กซ์ (cortex) และฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ใน 5-7 สัปดาห์

เฟอริตินที่ตรวจพบนั้นส่วนใหญ่อยู่ในเซลล์ไมโครเกลีย (microglia) และจะเห็นความเด่นชัดมากขึ้นเมื่อหนูกลุ่มที่เป็นโรคโตขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจพบเซลล์ไมโครเกลียที่มีเฟอริตินเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคนี้

งานวิจัยนี้จึงช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมของเหล็กในเซลล์ไมโครเกลียที่ผิดปกติตั้งแต่อายุยังน้อยอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาไปเป็นโรคฮันติงตันเมื่อโตขึ้นได้


เอกสารอ้างอิง
Ferritin accumulation in dystrophic microglia is an early event in the development of Huntington's disease, Glia. 2007 Jun 5

Tuesday, June 05, 2007

ความจำเสื่อมในโรคเอดส์อาจเกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์ประสาทที่ลดลงในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์อาจเกิดภาวะความจำเสื่อม (dementia) ได้ ซึ่งเป้าหมายหลักในสมองที่เชื้อ HIV ต้องการโจมตีได้แก่ perivascular macrophages และ microglia ทำให้เซลล์หลั่งสารพวกไซโตไคน์ที่ทำให้เกิดการอักเสบและมีผลทางลบต่อกระบวนการเจริญพัฒนาของเซลล์ประสาทได้โดยตรง

นอกจากนี้มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ที่เกิดอาการความจำเสื่อม (HIV-associated dementia) โดยวิเคราะห์เนื้อเยื่อจากกรรมวิธี autopsy ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสด้วยวิธีทาง immunohistochemistry พบว่าจำนวนเซลล์ตั้งต้นประสาทที่เรียกว่า neural progenitor cells (NPCs) ลดลงเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ไม่ได้มีอาการความจำเสื่อมและอาสาสมัครปกติ โดยการยับยั้งที่ว่านี้อาจเกิดวิถี chemokine receptor signaling

จากการศึกษาในหลอดทดลองโดยใช้ NPCs ของหนูถีบจักร พบว่า HIV envelope protein gp120 เมื่อเกิดเป็นสารเชิงซ้อนกับ human CD4 (hCD4) สามารถเกิดอันตรกิริยากับตัวรับ CXCR4 ที่อยู่บนผิวเซลล์ของ NPCs ได้ สารเชิงซ้อน hCD4/gp120 ยับยั้งผลของ SDF1 ซึ่งมีส่วนในกระบวนการแบ่งตัวเซลล์ตั้งต้นประสาท จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อสารเชิงซ้อนดังกล่าวจับกับ CXCR4 แล้วอาจมีผลต่อ SDF1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างเซลล์ประสาทที่ลดลงในบริเวณเดนเตตไจรัสสมองส่วนฮิปโปแคมปัส



เอกสารอ้างอิง
  1. Adult hippocampal neurogenesis: regulation by HIV and drugs
    of abuse คลิก

  2. HIV-1 promotes quiescence in human neural progenitor cells. คลิก

  3. The HIV-1 coat protein gp120 regulates CXCR4-mediated signaling in neural progenitor cells. คลิก

Sunday, June 03, 2007

กรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดปริมาณอะไมลอยเบต้าและทาวในหนูที่เป็นโรคอัลไซเมอร์

การเกิด amyloid plaque นอกเซลล์ประสาท และการสะสม hyperphosphorylated tau proteins เกิดเป็น neurofibrillary tangles (NFTs)ภายในเซลล์ประสาทเป็นลักษณะที่สำคัญที่พบได้ในโรคอัลไซเมอร์ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการสร้าง amyloid peptide นั้นเกิดที่เยื่อหุ้มโดย Amyloid Precursor Protein ถูกเอนไซม์ย่อยหลายขั้นตอนจนเกิดเป็น amypoid beta peptide ซึ่งอาจอยู่ภายในเซลล์ประสาทในส่วนตัวเซลล์และเดนไดรต์ หรือ ขนส่งไปนอกเซลล์ แล้วเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนเกิดเป็น amyloid plaque และเชื่อว่า amyloid beta peptide อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการเติมหมู่ฟอสเฟตจำนวนมากให้กับโปรตีนทาว (Tau protein) และเกิดการสะสมขึ้น



ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์พบว่าระดับกรดไขมันจำเป็นชนิดโอเมก้า 3 คือ decosahexaenoic acid (DHA) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acids; PUFA) ในน้ำเลือดและในสมองมีปริมาณลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานปลาชนิดที่มีระดับ DHA สูงช่วยลดความน่าเป็นที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้



งานวิจัยนี้จึงศึกษาผลของกรดไขมันจำเป็นชนิดต่างๆ ในหนูถีบจักร 3xTg-AD ที่ได้ปรับแต่งยีนให้แสดงลักษณะของโรคอัลไซเมอร์ทั้งสองกรณี คือ เกิดทั้ง amyloid plague และ NFTs เมื่อครบ 3, 6 และ 9 เดือน ก็ฆ่าหนูเพื่อนามาวัดหาปริมาณ biomarker เช่น soluble AB40, soluble AB42, ApoE, Neprilysin, BACE, ADAM10 เป็นต้น



ข้อสรุปย่อ


  • อาหารที่มี DHA ทำให้ปริมาณ soluble AB ลดลงซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณ presinilin 1 ที่ลดลง จึงเป็นไปได้ว่าผลการลดระดับอะไมลอยเบต้าเกิดจากการลดการทำงานของเอนไซม์ gamma secretase อาจถือว่า DHA ออกฤทธิ์เป็นตัวยับยั้งเอนไซน์นี้ (gamma secretase suppressor)

  • ถึงแม้ว่า DHA จะมีผลลดปริมาณของ soluble AB และ AB ที่อยู่ในเซลล์ประสาท แต่ทั้งนี้ไม่ได้ช่วยลดระดับของ insoluble AB แต่อย่างใด

  • เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าหนู 3xTg-AD มีการสะสมอะไมลอยเบต้าในเซลล์ประสาทของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสก่อนที่จะเกิด amyloid plague ที่ภายนอกเซลล์ และเป็นเวลาที่สามารถพบความผิดปกติของไซแนปส์และความเสื่อมด้านการู้คิด (cognitive impairment) แล้ว

  • ดังนั้นการสะสมอะไมลอยด์เบต้าภายในเซลล์จึงมีบทบาททำให้เกิดการพัฒนาเป็นโรคมากยิ่งขึ้น การรักษา (เช่นการให้ DHA) โดยการยับยั้งแหล่งอะไมลอยดังกล่าวนี้จึงน่าจะเกิดประโยชน์

  • DHA ช่วยลดปริมาณโปรตีนทาวที่สะสมในเซลล์ประสาท ซึ่งอาจเกิดจาก DHA ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ activated JNK จึงทำให้ระดับของ phospho-tau ลดลง

ขณะนี้ National Institute on Aging (NIA) ของประเทศสหรัฐอเมริกากำลังศึกษาระดับคลินิกระยะที่ 3 (Phase 3 clinical trial) ในผู้ป่วยจำนวน 400 คน เพื่อศึกษาบทบาทของ DHA ในการชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ในหัวข้อ "DHA (Docosahexaenoic Acid), an Omega 3 Fatty Acid, in Slowing the Progression of Alzheimer's Disease"


เอกสารอ้างอิง


  1. Dietary docosahexaenoic acid and docosapentaenoic acid ameliorate amyloid-beta and tau pathology via a mechanism involving presenilin 1 levels, J Neurosci. 2007 Apr 18;27(16):4385-95.

  2. The importance of fish and docosahexaenoic acid in Alzheimer disease, Am J Clin Nutr. 2007 Apr;85(4):929-30.

  3. http://clinicaltrials.gov/ct/show/NCT00440050?order=1

Thursday, May 31, 2007

การได้รับยาปราบศัตรูพืชและศรีษะได้รับความกระทบกระเทือนเพิ่มอัตราเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน

คณะผู้ศึกษาตามโครงการ European Commission funded study ได้ออกแบบการศึกษาแบบ case-control studies ขนาดใหญ่เพื่อศึกษาผลของปัจจัยเสี่ยงทางต่อโรคพาร์กินสันและโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ในประเด็นด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการประกอบอาชีพ ในประเทศ Scotland, Italy, Sweden, Romania และ Malta โดยผลการศึกษาได้ตีพิมพิ์ในวารสาร Journal Occupational and Environmental Medicine

จากรายงานการวิจัยพบว่า ผู้ที่ได้รับยาปราบศัตรูพืช (pesticides) พบว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) 1.13 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เคยสัมผัสเลย สำหรับผู้ที่เคยได้รับยาปราบศัตรูพืชในปริมาณที่สูงขึ้นพบว่าเพิ่มอัตราเสี่ยงเป็น 1.41 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่านักมวยที่เคยถูกน๊อกเอ้าท์แบบหมดสติบนเวทีเพียงหนึ่งครั้งพบว่าเพิ่มโอกาสเป็นโรคนี้ถึง 1.35 เท่า สำหรับนักมวยที่ถูกน๊อกเอ้าท์บ่อยครั้งก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงถึง 2.53 เท่า

คงจำได้นะครับเคยมีนักมวยชื่อก้องโลกผู้หนึ่งเป็นโรคพาร์กินสัน และผมเคยเขียนเรื่องการชกมวยที่ทำให้ระดับของเปปไทด์อะไมลอยเบต้า (beta-amyloid peptide) เพิ่มมากขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์เช่นเดียวกัน






อ้างอิง
ScienceDaily
http://www.sciencedaily.com/releases/2007/05/070529201027.htm

ออกกำลังกายร่วมกับรับประทานอาหารที่มี flavonols เพิ่มความจำ ลดการทำงานของยีนโรคสมองเสื่อม

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอาจเพิ่มการทำงานของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้มีข่าวงานวิจัยเกี่ยวกับการทดลองในหนูถีบจักรโดยเปรียบเทียบหนูสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกฝึกให้วิ่งเพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่สองได้รับในสารกลุ่ม flavonols ที่ชื่อ epicatechin ซึ่งมีในอาหาร เช่น ช็อกโกเลต และวิ่งร่วมด้วย งานวิจัยนี้ตีพิมพิ์ในวารสาร The Journal of Neuroscience เมื่อวานนี้ครับ

ก่อนหน้านี้พบว่าสาร epicatechin ช่วยเสริมการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและพบว่าเพิ่มปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น งานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหารโดยการให้สาร epicatechin ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริเวณเดนเตตไจรัสใน (dentate gyrus)ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเรียนรู้และความจำ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะช่วยลดอัตราการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคสมองเสื่อม (neurodegenerative disease) หรือโรคความผิดปกติทางด้านการรู้คิด (cognitive disorders) ที่เกี่ยวข้องกับความชราภาพ

จากผลการวิจัยพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับ epicatechin ร่วมกับการวิ่งวันละ 2 ชั่วโมง มีการเจริญของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเดนเตตไจรัสเพิ่มมากขึ้นและมีการพัฒนาของเซลล์ประสาทที่โตเต็มวัยมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีการแสดงออกของยีนที่สำคัญต่อการเรียนรู้และความจำเพิ่มมากขึ้นและลดการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและภาวะสมองเสื่อม

คงจำได้นะครับว่าผมเคยเขียนเรื่องการออกกำลังกายช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เรื่องอาหารนี้ก็เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจ สารที่ช่วยเพิ่มการทำงานของสมองเราอาจเรียกว่า nootropics หรือ neuropharmaceuticals หรือชื่ออื่นๆ ต่อไปสาขาวิชา Neurogenesis และ Neuroenhancement จึงน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งครับ


อ้างอิง
ScienceDaily
http://www.sciencedaily.com/releases/2007/05/070529174815.htm

Thursday, May 24, 2007

ยาต้านเศร้า Fluoxetine อาจออกฤทธิ์ต่อระบบของสารสื่อประสาท GABA

รายงานนี้นำเสนอหลักฐานทางประสาทเคมีเกี่ยวกับระดับสารสื่อประสาทกาบาที่เปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับยา fluoxetine

Fluoxetine Partly Exerts its Actions Through GABA: A Neurochemical Evidence.
Neurochem Res. 2007 May 8

Fluoxetine, as a serotonin re-uptake inhibitor augments serotonin concentration within the synapse by inhibiting the serotonin transporter. The contribution of amino acids has also been shown in depression. We hypothesized that fluoxetine exerts its actions at least in part by intervening brain signaling operated by amino acid transmitters. Therefore the aim of this study is to supply neurochemical evidence that fluoxetine produces changes in amino acids in cerebrospinal fluid of rats. Sprague-Dawley rats were anesthetized and concentric microdialysis probes were implanted stereotaxically into the right lateral ventricle. Intraperitoneal fluoxetine (2.5 or 5 mg/kg) or physiological saline was administered and the probes were perfused with artificial cerebrospinal fluid at a rate of 1 mul/min. In the chronic fluoxetine group, the rats were treated daily with oral fluoxetine solution or inert syrup for 3 weeks. The microdialysis probes were placed on the 21st day and perfused the next day. Fluoxetine was ineffective in changing the cerebrospinal fluid GABA levels at the dose of 2.5 mg/kg but produced a significant increase in the perfusates following injection of 5 mg/kg of fluoxetine (P <> These neurochemical findings show that fluoxetine, a selective serotonin re-uptake inhibitor affects brain GABA levels indirectly, and our results suggest that acute or chronic effects may be involved in beneficial and/or adverse effects of the drug.


งานวิจัยฉบับที่สองนี้อาจไม่ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเพียงแต่เสนอว่าผลการต้านชักที่เพิ่มขึ้นเกิดเนื่องมาจากอันตรกิริยาทางเภสัชจลนศาสตร์

Chronically administered fluoxetine enhances the anticonvulsant activity of conventional antiepileptic drugs in the mouse maximal electroshock model.
Eur J Pharmacol. 2007 Mar 24

Interactions between chronically administered fluoxetine and valproate, carbamazepine, phenytoin, or phenobarbital were studied in the maximal electroshock test in mice. Fluoxetine administered for 14 days at doses up to 20 mg/kg failed to affect the electroconvulsive threshold. Nevertheless the drug (at 15 and 20 mg) enhanced the anticonvulsant activity of valproate, carbamazepine, and phenytoin. When applied at 20 mg/kg, it potentiated the protective action of phenobarbital. Fluoxetine, antiepileptic drugs, and their combinations did not produce significant adverse effects evaluated in the chimney test (motor coordination) and passive-avoidance task (long-term memory). Chronically applied fluoxetine significantly increased the brain concentrations of valproate, carbamazepine, phenobarbital and phenytoin, indicating a pharmacokinetic contribution to the observed pharmacodynamic interactions. In conclusion, long-term treatment with fluoxetine exhibited some favorable effects on the anticonvulsant properties of conventional antiepileptic drugs, resulting, however, from pharmacokinetic interactions.

การได้รับแอลกอฮอล์เพียงครั้งเดียวในช่วงอายุยังน้อยก็สามารถทำลายเซลล์ต้นกำเนิดประสาทและลดการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส

Single alcohol exposure in early life damages hippocampal stem/progenitor cells and reduces adult neurogenesis.


Neurobiol Dis. 2007 Jun;26(3):597-605. Epub 2007 Mar 28

Alcohol exposure during pregnancy may cause fetal alcohol syndrome (FAS), characterized by impaired cognitive functions. Neurogenesis occurs in the adult hippocampus and is functionally associated with learning, memory, and mood disorders. However, whether early postnatal exposure to alcohol impairs neurogenesis and through which mechanisms it occurs is poorly understood. Here, we report that a single episode of alcohol exposure in postnatal day 7 (P7) decreases neurogenesis in the adult hippocampus. Furthermore, we demonstrate a co-localization of glial fibrillar acidic protein, nestin, and vimentin with activated caspase-3 12 h after ethanol treatment. Finally, we show that the number of primary neurospheres derived from the hippocampi of alcohol-exposed mice is reduced compared to controls. These findings suggest that alcohol exposure in postnatal mice reduces the pool of neural stem/progenitor cells in the DG, and subsequently results in a decrease of adult neurogenesis. This may explain certain aspects of impaired hippocampal functions in FAS.