Wednesday, April 11, 2007

สารสกัดจากใบแป๊ะก๊วย EGb 761 เพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในฮิปโปแคมปัสและเพิ่มการเติมหมู่ฟอสเฟตให้กับโปรตีน CREB

มีรายงานการวิจัยหลายฉบับที่แสดงฤทธิ์ของสารสกัดมาตรฐานของใบแป๊ะก๊วยที่เรียกว่า Standardized Ginkgo biloba extract EGb 761 ซึ่งให้ผลที่เป็นประโยชน์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ใช้สารสกัดนี้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความจำ (memory enhancers หรือ nootropics หรือ smart drugs) โดยก่อนหน้านี้ได้มีการวิจัยพบว่าสารสกัด EGb 761 ยับยั้งการจับตัวกันของโมเลกุลเปปไทด์อะไมลอยด์เบต้า (amyloid beta oligomerization) ช่วยปกป้องเซลล์ประสาทจากพิษของ amyloid beta นอกจากนี้ยังเพิ่มการทำงานด้าน cognitive ในหนูถีบจักรที่ใช้เป็นโมเดลของโรคอัลไซเมอร์

ฮิปโปแคมปัสเป็นบริเวณสมองที่รับผิดชอบการเรียนรู้และความจำ ซึ่งความจำที่ได้รับผลกระทบมากคือ ประเภท declarative memory ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์พบว่าสมองส่วนนี้ทำงานผิดปกติ ลักษณะทางประสาทพยาธิวิทยาหลัก 2 ประการที่พบได้ในสมองของผู้ป่วยคือ
neuritic plaque ที่มีองค์ประกอบเป็น amyloid beta และองค์ประกอบของเซลล์ที่ตายแล้วจับกลุ่มกันอยู่นอกเซลล์ และพบ neurofibrillary tangles ที่เกิดจาก hyper-phosphorylated tau proteins อยู่ภายในไซโตซอล


งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลของผลของสารสกัดใบแป๊ะก๊วย EGb 761 ต่อการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (adult hippocampal neurogenesis) และผลของสารสกัดนี้ต่อโปรตีนที่ชื่อว่า cAMP response element binding protein (CREB) ในหนูถีบจักรที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน TgAPP และ PS1 เพื่อใช้เป็นโมเดลของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งโดยปกติแล้วโปรตีน CREB มีส่วนสำคัญมากในกลไกการเรียนรู้และจดจำในระดับโมเลกุล (molecular mechanism of learning and memory)

คณะวิจัยพบว่า EGb 761 เพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสทั้งในหนูถีบจักรอายุอ่อน (6 เดือน) และที่อายุมากแล้ว (22 เดือน)
นอกจากนี้ยังเพิ่มจำนวนเซลล์ตั้งต้นของเซลล์ประสาทที่เรียกว่า neuronal precursor cells ซึ่งผลนี้มีความสัมพันธ์ตามขนาดสารสกัด EGb 761 ที่เพิ่มขึ้น (dose-dependent relationship) จากผลการทดลองยังพบว่าเซลล์ต้นกำเนิดประสาท (neural stem cells) แบ่งตัวพัฒนาไปเป็นเซลล์ประสาท (neurons) ประมาณมากกว่าร้อยละ 95 มีเพียงส่วนน้อยประมาณร้อยละ 1 ที่เจริญพัฒนาเป็นเซลล์เกลีย (glial cells)







นอกจากนี้พบว่า amyloid beta oligomer มีผลยับยั้งการเติมหมู่ฟอสเฟต (phosphorylation) ให้กับโปรตีน CREB และยับยั้งแบ่งตัวของเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสร้างเซลล์ประสาทใหม่ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส แต่เมื่อคณะผู้วิจัยให้สารสกัด EGb 761 แก่หนูทดลองพบว่าปริมาณ amyloid beta oligomer และเพิ่มปฏิกิริยาการเติมหมู่ฟอสเฟตให้กับโปรตีน CREB ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของหนูเหล่านั้นได้

งานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นว่า
1. ผลของสารสกัดใบแป๊ะก๊วย EGb 761 ที่เพิ่มการสร้างเซลล์ประสาทใหม่อาจเกิดจากการกระตุ้นการทำงานของโปรตีน CREB
2. การกระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสารสกัดใบแป๊ะก๊วย EGb 761 อาจอธิบายประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคอัลไซมอร์ และผลการช่วยเพิ่มการทำงานด้าน cognitive ในหนูถีบจักรที่ใช้เป็นโมเดลของโรคอัลไซมอร์
3. สารสกัดใบแป๊ะก๊วย EGb 761 จึงมีศักยภาพในการป้องกันและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงจากผลงานวิจัยที่ยังไม่ได้มีข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ในมนุษย์ที่สมบูรณ์เพียงพอ ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการคำวินิจฉัยเพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เอกสารอ้างอิง
1. EGb 761 enhances adult hippocampal neurogenesis and phosphorylation of CREB in transgenic mouse model of Alzheimer’s disease. FASEB J. 21, August (2007), Published available online March 13, 2007 คลิก
2. Ginkgo biloba extract (EGb 761) and CNS functions: basic studies and clinical applications, DeFeudis, F. V., and Drieu, K. Curr. Drug. Targets 1, (2000) 25–58
คลิก